จากผู้รู้
รู้ไว้ใช่ว่ากับ Deenee
ตัวอย่างงานออกแบบ
ตกแต่งห้องแบบมืออาชีพ
 
     การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุดการนอนหลับเพียง 5-6 ชั่วโมงในห้องที่เงียบสงบ มืดสนิท อุณหภูมิพอเหมาะ และอากาศถ่ายเทดีก็นับว่าเพียงพอแล้วสำหรับคนเราในวันหนึ่ง ๆ ห้องนอนจึงเป็นห้องที่ต้องการความสงบมากกว่าส่วนใดในบ้านให้ความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบายแก่เจ้าของ อีกทั้งแสดงรสนิยมและบุคลิกของเจ้าของห้องได้มากกว่าห้องอื่น นอกจากจะใช้เป็นห้องพักผ่อนนอนหลับแล้วยังอาจใช้เป็นห้องแต่งตัวและห้องทำงานส่วนตัวได้อีกด้วย

ขนาด

     ห้องนอนมีขนาดแตกต่างกันไปตามจำนวนผู้ที่ใช้ห้องและการ

ใช้ประโยชน์เช่น ถ้าใช้เป็นห้องแต่งตัวด้วยก็ควรมีขนาดใหญ่กว่าใช้นอนเพียงอย่างเดียว ขนาดของห้องโดยทั่วไปมีตั้งแต่ 3.00 x 3.00 เมตรไปจนถึง 4.50 x 5.50 เมตร หรืออาจกว้างกว่านี้ ควรเป็นห้องมีเพดานสูง มีหน้าต่างหลายบานโดยอยู่รวมกลุ่มกันเพื่อจะได้มีเนื้อที่ผนังใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น สำหรับประตูถ้ามีมากกว่าหนึ่งบานควรอยู่ใกล้กัน

ที่ตั้ง
     ห้องนอนควรอยู่ในมุมสงบที่สุดของบ้าน ห้างจากถนนเข้าบ้าน ห่างจากเสียงรบกวนหรือสิ่งรบกวนอื่น ๆ อากาศถ่ายเทดี ได้รับลมเป็นประจำ ห้องนอนที่ได้รับแสงแดดในตอนเช่าจะไม่ร้อนระอุในเวลากลางคืนเหมือนห้องนอนที่ได้รับแสงแดดในตอนบ่าย ในกรณีที่ห้องนอนไม่รวมกับห้องแต่งตัวก็ควรอยู่ติดกับห้องแต่งตัวและห้องน้ำ

แสงสว่าง
     สำหรับพื้นที่โดยทั่วไปในห้องนอนไม่ต้องการแสงสว่างมากนัก แต่จะมีจุดที่ต้องการแสงสว่างมากเฉพาะที่ได้แก่ โคมไฟหัวเตียงซึ่งใช้อ่านหนังสือก่อนนอน ไฟที่หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง ไฟบริเวณกระจกที่ใช้สำหรับแต่งตัว โคมไฟสำหรับอ่านหนังสือควรปรับทิศทางได้และส่องสว่างเฉพาะหนังสือเท่านั้น ไม่ส่องตรงเข้าตามผู้อ่าน
แสงสว่างจากภายนอกอาจรบกวนผู้ที่นอนตื่นสายหรือนอนเวลากลางวันได้ ดังนั้นจึงควรมีม่านหรือมู่ลี่ที่หน้าต่างห้องนอนเพื่อป้องกันแสงสว่างจากภายนอก

เครื่องเรือน
     เครื่องเรือนชิ้นสำคัญที่สุดในห้องนอนคือเตียงนอนซึ่งควรมีเนื้อที่กว้างขวางและรับน้ำหนักได้ดี เตียงนอนมีทั้งเตียงนอนเดี่ยวและเตียงนอนคู่
*เตียงนอนเดี่ยว มีขนาด 1.00-1.10 x 2.00 เมตร สูง 0.40-0.50 เมตร
*เตียงนอนคู่ มีขนาด 1.80 x 2.00 เมตร สูง 0.40-0.50 เมตร
     นอกจากเตียงนอนแล้วเครื่องเรือนอื่น ๆ ได้แก่
*โต๊ะข้างเตียง ขนาด 0.30 x 0.45 เมตร สูง 0.4 เมตร ซึ่งนิยมทำเป็นตู้เตี้ยยาว ๆ วางบริเวณหัวเตียง ทั้งโต๊ะข้างเตียงหรือตู้เตี้ยนี้ใช้ประโยชน์เพื่อวางสิ่งของ เช่น หนังสืออ่านก่อนนอน วางโคมไฟหรือโทรศัพท์ ฯลฯ ตู้เตี้ยหรือโต๊ะข้างเตียงควรมีความสูงระดับเตียงและควรอยู่ในระยะที่เอื้อมมือถึงขณะนอน
*ตู้เสื้อผ้า ขนาด 0.60-0.70 x 1.20-1.50 เมตร สูง 1.80-2.20 เมตร ซึ่งอาจเป็นแบบตู้ตั้งพื้นหรือแบบฝังผนังก็ได้ ภายในตู้เสื้อผ้านอกจากจะมีราวแขวนผ้าแล้วยังอาจมีช่องหรือลิ้นชักด้านบนหรือด้านล่างสำหรับเก็บเสื้อผ้าที่พับไว้ กระเป๋าเครื่องห่มนอนและอื่น ๆ
*โต๊ะเครื่องแป้งชาย ผู้ชายส่วนใหญ่จะยืนแต่งตัว ขนาดของโต๊ะเครื่องแป้งชายคือ 0.40 –0.50 x 0.60 เมตร สูง0.75-0.90 เมตร ด้านล่างอาจทำเป็นลิ้นชักได้จนถึงพื้น
*โต๊ะเครื่องแป้งหญิงขนาด 0.40-0.50 x 0.80-1.00 เมตร สูง 0.60-0.70 เมตร และมีเก้าอี้นั่งแต่งหน้าขนาด 0.40 x 0.40 เมตร สูง 0.40 เมตร การเลือกเก้าอี้ควรคำนึงถึงความเหมาะสมเมื่อเทียบกับโต๊ะเครื่องแป้ง สำหรับกระจกเงาที่ใช่แต่งตัวควรใช้กระจกบานใหญ่ส่องได้เต็มตัวซึ่งอาจติดตั้งที่บานประตูตู้เสื้อผ้า ส่วนกระจกที่โต๊ะเครื่องแป้งอาจเป็นรูปสีเหลี่ยม รูปกลม รูปไข่ หรือมี 3 บาน ปรับมุมได้ตามต้องการ
ถ้าห้องกว้างพอและเจ้าของห้องอ่านหรือเขียนหนังสือในเวลากลางคืนในห้องนอนก็อาจมีโต๊ะทำงาน เก้าอี้นั่งสบาย ๆ และเครื่องเรือนอื่น ๆ ได้ตามต้องการ

การจัด
     โดยทั่วไปสิ่งใดที่จัดเรียบชิดผนังได้ก็ควรทำ เช่น ตู้เสื้อผ้า ฯลฯ และถ้ามีการใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการนอนก็ควรจัดแบ่งเครื่องเรือนเป็นมุมหรือหมวดหมู่ เช่น ส่วนของเตียงนอน ที่แต่งตัว ที่พักผ่อน เป็นต้น


ข้อแนะนำในการจัดวางเครื่องเรือน
*เตียงนอนไม่ควรตั้งตรงประตู ควรหันหัวเตียงนอนเข้าหาผนังทึบ และให้มีทางเดินรอบเตียงได้ 3 ด้าน
*โต๊ะเครื่องแป้งไม่ควรตั้งตรงประตู และควรวางในตำแหน่งที่แสงสว่างจากภายนอกส่งลงบนใบหน้าของผู้ที่กำลังใช้โต๊ะเครื่องแป้ง
*ตู้เสื้อผ้าควรอยู่ใกล้ประตูเข้าออก และอยู่ใกล้ห้องน้ำ
*ที่เก็บของควรไว้ทุกแห่งที่มีกิจกรรมซึ่งต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ที่แต่งตัวมีตู้ ชั้น หรือลิ้นชักเก็บเครื่องใช้ในการแต่งตัว ฯลฯ
การจัดห้องนอนให้ดูน่าสบายยังขึ้นอยู่กับส่วนประกอบอื่นอีก ได้แก่ การเลือกใช้ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าม่าน พรม ให้ดูกลมกลืนกันอีกด้วย

สัดส่วนและขนาดของฟูก
     ฟูกนอนเดี่ยวขนาดมาตรฐานมีขนาดกว้าง 100 ซม. ยาว 200 ซม. สำหรับฟูกนอนแบบคู่ขนาดมาตรฐานแบบควีนมีขนาดกว้าง 150 ซม. ยาว 200 ซม. ถ้าเป็นแบบคิงจะใหญ่ขึ้น คือ กว้าง 180- 190 ซม. ยาว 200-210 ซม.

โต๊ะแต่งตัวกับตู้ลิ้นชัก
     ตู้ลิ้นชักเหมาะสำหรับเป็นที่เก็บผ้าเช็ดหน้า ถุงเท้า และผ้าที่พับเก็บ ตู้ลิ้นชักอาจเป็นตัวเดียวกับโต๊ะแต่งตัวหรือแยกกันก็ได้ ลิ้นชักอาจตื้นเพียง 8-10 ซม. แต่หากเป็นผ้าชิ้นใหญ่ก็อาจต้องใช้ลิ้นชักลึกถึง 20 ซม. โต๊ะแต่งตัวที่มีช่องว่างสำหรับนั่งสอดขาเข้าได้จะใช้สะดวกกว่าโต๊ะที่ทึบตันโต๊ะแต่งตัวแบบง่าย ๆ ประกอบด้วยลิ้นชักเก็บของและช่องว่างสำหรับวางเท้าความสูง 60-90ซม.
เนื้อที่ที่ต้องใช้ควรมีที่ว่างประมาณ 60 ซม. หน้าโต๊ะสำหรับวางม้านั่งในกรณีที่มีที่วางเท้าใต้โต๊ะ แต่ถ้าโต๊ะทึบตัน ควรมีที่ว่างสำหรับวางม้านั่งเพิ่มอีกประมาณ 25 ซม.
ถ้ามีลิ้นชัก ต้องใช้เนื้อที่ด้านหน้าสำหรับยืนดึงลิ้นชักออกมา 70-90 ซม.

ตู้เสื้อผ้า
     ตู้เสื้อผ้าควรให้มีเพียงพอสำหรับแขวนเสื้อผ้า มีชั้นและลิ้นชักเก็บของบ้างพวกชุดต่าง ๆ และกระโปรงต้องการเนื้อที่แขวนสูง 80-120 ซม.
ขนาดของตู้เสื้อผ้าส่วนใหญ่จะลึกประมาณ 60 ซม. ตู้เปิดประตูเดียวจะมีความกว้างเท่าความลึกคือ 60 ซม. ตู้เปิดสองประตูโดยทั่วไปกว้าง 90 ซม. หรือ 120 ซม. สำหรับเนื้อที่หน้าตู้ควรจะมีที่ว่าง70-90 ซม.
ตำแหน่งของลิ้นชักหรือชั้นที่มีความสูงไม่มากนักสำหรับเก็บของเล็กของน้อยควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา เหนือระดับสายตาควรเป็นชั้นโล่งสำหรับวางของที่ควรมองเห็นได้ชัดว่าอะไรอยู่ตรงไหน


                                                                                                                                                       ขอขอบคุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4
                                                                                โปรแกรมวิชา
เทคโนโลยีสถาปัตยกรรมภายใน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร



Copyright by Webmaster Deenee.com